อาคารเสนาสนะและปูชนียวัตถุ ของ วัดกองแก้ว (จังหวัดสมุทรปราการ)

ในยุคกรุงศรีอยุธยาสันนิษฐานว่า มีอาคารเสนาสนะ เช่น พระอุโบสถหลังเก่า มีรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา หลังคาไม่มีการลดหลั่น แต่มีเพิงหน้าหลัง ไม่มีซุ้มประตูหน้าต่าง หรือลวดลายประกอบ ดูจากแผ่นอิฐและเนื้ออิฐคาดว่ามาจากเมืองเก่าอยุธยา ส่วนเจดีย์ทรงเหลี่ยม ย่อมุมสิบสอง (ปัจจุบันไม่เหลือให้เห็นแล้ว) น่าจะสร้างขึ้นในช่วงรัตนโกสินทร์ ในสมัยรัชกาลที่ 2 จากชาวรามัญที่อพยพเข้ามาอยู่ปทุมธานีและที่เมืองพระประแดง

ช่วงที่พระครูวิบูลย์ธรรมคุต (อุปัชฌาย์ต่วน) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ได้สร้างอาคารเสนาสนะจัดวางแนวกุฏิสงฆ์ล้อมรอบหอสวดมนต์ ซึ่งยังคงเห็นในปัจจุบัน กุฏิสงฆ์ล้อมรอบหอสวดมนต์มีชานเดินรอบ (ปัจจุบันนี้ไม่มีให้เห็นแล้ว) ปัจจุบันมีกุฏิสงฆ์ 9 หลัง

พระประธานมีนามว่า พระพุทธชินศรีรัตนมหามุนีตรีโลกเชษฐ์ (หลวงพ่อใหญ่)[3] วัดมีศาลาการเปรียญ เป็นอาคารแฝดไม้สักทรงไทย ภายในมีธรรมาสน์สมัยอยุธยา ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ภาพไตรภูมิ ภาพทศชาติ และภาพพุทธประวัติ มณฑป ที่ประดิษฐานพระพุทธรูป รอยพระพุทธบาทและรูปเหมือนอดีตเจ้าอาวาส มีหอสวดมนต์ หอฉัน เป็นอาคารทรงไทยใต้ถุนสูง